ประวัติเจ้าอาวาส

      พระครูปิยสมาธิวัตร เดิมชื่อชม ทรงสง่า เป็นบุตรชายของคุณพ่อปาน คุณแม่เงิน ทรงสง่า มีพี่น้องทั้งหมด 7 คน ได้แก่
      1. นายพร้อม ทรงสง่า มีครอบครัว ประกอบอาชีพอยู่หน้าวัดควนคลัง
      2. พระคล่อง รจิธมฺโม อุปสมบท ณ วัดควนคลัง พรรษา 10 (2552)
      3. นายจรัส ทรงสง่า (ถึงแก่กรรม ปี พ.ศ. 2545)
      4. นายเจริญ ทรงสง่า มีครอบครัว อาศัยอยู่ที่ บ้านควนยูง อ.ฉวาง
      5. นายแคล้ว ทรงสง่า มีครอบครัว ประกอบอาชีพอยู่หน้าวัดควนคลัง
      6. พระครูปิยสมาธิวัตร (หลวงพ่อชม ปิยธโร)
      7. นางประคอง โสดา (ทรงสง่า) มีครอบครัว อาศัยอยู่บ้านปลายเส ต.คลองเส อ.ถ้ำพรรณรา จ.นครศรีธรรมราช

สถานที่ถือกำเนิด
      ภูมิลำเนาเดิม เกิดที่ บ้านสำโรง อำเภอทุ่งสง จังหวัด นครศรีธรรมราช เมื่อ วันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2489 ครอบครัวมีอาชีพทำนา

วัยเรียน
      หลวงพ่อชมในวัยเด็กท่านได้เข้าเรียนหนังสือในโรงเรียนวัดสำโรง ขณะเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ ครอบครัวประสบกับวิบากกรรม ต้องย้ายถิ่นที่อยู่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๓ มาตั้งรกรากใหม่ที่ละแวกชุมชนบ้านควนคลัง โดยโยมพ่อปาน ทรงสง่า ซึ่งในขณะเกิดเหตุคุณพ่อท่านดำรงสมณเพศ อยู่วัดสระแก้ว อ.ทุ่งสง ตั้งใจจะไม่ลาสิกขา แต่ด้วยความจำเป็นครอบครัวถูกคดีความ โยมแม่และพี่ชายถูกจับ ต้องวิ่งเต้นต่อสู้คดีประกันตัวโยมแม่ออกมา โยมพ่อท่านจึงต้องลาสิกขามาดูแลครอบครัว การดำเนินคดีถึงที่สุด แพ้คดีความพี่ชายต้องจำคุก โยมพ่อก็ถึงแก่กรรมในปลายปี พ.ศ. 2503 หลวงพ่อต้องอาศัยอยู่กับยายจนเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จึงได้ย้ายมาอยู่กับครอบครัว ช่วยโยมแม่ทำมาหากิน ก่อนที่โยมแม่จะเข้าวัดปฏิบัติธรรมในภายหลัง จนกระทั่งเสียชีวิตประมาณปี พ.ศ. 2530

ชีวิตในวัยหนุ่ม – เข้าอุปสมบท
      วัยหนุ่มชอบเที่ยวสนุกสนาน แต่ไม่เกเรทำร้ายใคร จนอายุ 23 ปี ในปี พ.ศ. 2512 มีโอกาสได้บวชเรียนในพระพุทธศาสนา ตั้งใจว่าจะบวชเรียนตามประเพณีของชายไทย ณ วัดมะเฟือง ต.นากะชะ อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช โดยมีพระครูญาณวรากร วัดไม้เรียง อ.ฉวาง เป็นพระอุปัชฌาย์ ศึกษาธรรมและจำพรรษาอยู่ ณ วัดมะเฟืองและได้ไปเข้ากรรมฐาน ณ วัดสุคนธาวาส ต.พรุพี อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี (สมัยที่หลวงพ่อจำเนียร สีลเสฏโฐ จำพรรษาอยู่ที่นั่น) จนพรรษาที่ 3 คณะญาติโยมบ้านควนคลัง นิมนต์ให้มาพักอยู่ ณ บริเวณตั้งวัดปัจจุบัน เพื่อเป็นหลักให้พี่น้องญาติโยมได้ทำบุญ เนื่องจากในสมัยนั้นยังคงทุรกันดาร ไม่มีวัดวา พระภิกษุสงฆ์ ให้ได้ทำบุญประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา การไปมาหาสู่ยากลำบาก การคมนาคมไม่สะดวก ต้องเดินเท้าเป็นส่วนใหญ่ สังคมเป็นปัญหา บ้านป่าเมืองเถื่อน รบฆ่าฟันกัน ตัดสินเอาชนะคัดทานกันด้วยกำลัง ท่านมาอยู่เป็นหลักให้ ปัญหาต่างๆก็คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น และสงบเรียบร้อยลงใน 5 ปีต่อมา
      หลวงพ่อชม ปิยธโร ในเพศบรรพชิต ท่านมีคุณูปการต่อพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ทั้งงานปกครอง งานสาธารณูปการ และที่เด่นคืองานการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ซึ่งเห็นได้จากท่านได้นำหลักธรรมของพระศาสนาไปโปรดสาธุชนทั่วประเทศ ทั้งยังได้จัดกิจกรรมอันเป็นการส่งเสริมพระพุทธศาสนาปีหนึ่งก็เป็นจำนวนหลายครั้งด้วยกัน และที่สำคัญคืองานปฏิบัติธรรมประจำปีของวัดคือระหว่างวันที่ 18-28 กุมภาพันธ์ของทุกปี จะมีพระสงฆ์และญาติโยมสาธุชนจากทั่วสารทิศได้เดินทางมาร่วมปฏิบัติธรรมไม่น้อยกว่า 500 ชีวิต
      หลวงพ่อชมจึงได้รับพระราชทานสมศักดิ์ ในราชทินนามที่ "พระครูปิยสมาธิวัตร" ในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ในวันที่ 5 ธันวาคม 2537
    ค่อนชีวิตของท่านที่ได้อยู่ใต้ร่มเงาแห่งกาสาวพัตร์ ธงชัยของพระอรหันต์ ได้ทำประโยชน์มากมาย ช่วยเหลือผู้คนที่ลอยคออยู่ในห้วงแห่งมหันตทุกข์ ได้ประสบความสุข ความสงบเย็นในดินแดนแห่งพระธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อย่างไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย ซึ่งเป็นสิ่งที่บุคคลทั่วไปทำได้โดยยาก


ณ ดินแดนพุทธภูมิ ประเทศอินเดีย